ความรู้อุตุนิยมวิทยา
ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับมีตา เป็นวงกลมอยู่มองเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายจากดาวเทียม เรียกว่า “ตาพายุ” (Eye) เป็นบริเวณเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางของตาพายุเพียงแค่เป็นสิบๆ กิโลเมตรเท่านั้น(ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้เป็นบริเวณที่มีอากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อยเท่านั้น และมีลมพัดอ่อน
พายุหมุนเขตร้อนนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก โดยทั่วไปเกิดทางด้านตะวันตกของมหาสมุทร ในเขตร้อนบริเวณใกล้ศูนย์สูตร(ยกเว้น มหาสมุทรแอตแลนติกใต้และทางด้านตะวันออก ของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้) เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ทำความเสียหายให้แก่ทวีปต่างๆ ทางด้านตะวันออก
พายุหมุนเขตร้อนนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันแล้วแต่ท้องถิ่นที่เกิด เช่น ถ้าเกิดในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และในทะเลจีนใต้ เรียกชื่อว่า “พายุไต้ฝุ่น – Typhoon” ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลคาริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก เรียกชื่อว่า “พายุเฮอร์ริเคน – Hurricane” ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอล และทะเลอาราเบียนในมหาสมุทรอินเดีย เรียกชื่อว่า “พายุไซโคลน – Cyclone” และถ้าเกิดในทวีปออสเตรเลีย เรียกชื่อว่า “วิลลี่-วิลลี่ – Willy-Willy” หรือมีชื่อเรียกไปต่างๆกันถ้าเกิดในบริเวณอื่น
ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้จัดแบ่งชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุได้เป็น 3 ชั้น ดังนี้
1. ดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 34 ถึง 64 นอต (63 ถึง 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
3. พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต หรือมากกว่า หรือ ตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป
ฟ้าหลัว
หมายถึง ลักษณะของอากาศที่ประกอบด้วยอนุภาคของเกลือจากทะเลหรือมหาสมุทร หรือของควันไฟและละอองฝุ่นจำนวนมากมายล่องลอยอยู่ทั่วไปและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้มองเห็นอากาศเป็นฝ้าขาวในบรรยากาศที่มีฟ้าหลัวเกิดขึ้นจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงแม้ในอากาศดี ฟ้าหลัวธรรมดาจะทำให้ทัศนวิสัยลดลงไปถึง 2 ใน 3 ของทัศนวิสัยปกติ
ลมพัดสอบ
หมายถึง การเบียดตัวเข้าหากันของลม 2 ฝ่ายบริเวณใกล้พื้นโลกทำให้อากาศบริเวณแนวเบียดตัวลอยขึ้นเบื้องบนตามแนวนี้มัก จะมีเมฆฝนเกิดขึ้นและในที่สุดจะตกลงมาเป็นฝน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น